ผู้ติดตาม

วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2556

บทความทางพลศึกษา และสุขภาพ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

บทความทางพลศึกษา และสุขภาพ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
บทความทางพลศึกษา  และสุขภาพ
การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
อาจารย์ชาญณรงค์ ฟูกโคกสูง

               การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งมีสุขภาพที่แข็งแรงเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่ส่งเสริมให้บุคคลนั้นประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น ด้านการศึกษา ด้านการทำงาน เป็นต้น เนื่องจากผู้มีสุขภาพแข็งแรงจะมีความสามารถทางร่างกาย จิตใจ และเวลามากกว่าคนที่ไม่แข็งแรง  จึงอาจจะกล่าวได้ว่า การมีสุขภาพดีนั้นเป็นเรื่องที่คนทุกคนปรารถนา ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า อโรคายา ปรมา              ลาภา”  ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ  ซึ่งการที่เราจะมีสุขภาพที่ดีได้นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการขอพรจากสิ่งศักดิ์ แต่เราทุกคนสามารถสร้างได้ด้วยตัวเอง คือการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง เช่น การพักผ่อนที่เพียงพอ รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น โดยเฉพาะการออกกำลังกายนั้นเป็นทั้งยาป้องกันโรค ยารักษาโรค และยาบำรุงอย่างดีที่ไม่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากไปหาซื้อ ดังนั้นการออกกำลังกายจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อคนทุกเพศ  ทุกวัย
                การออกกำลังกาย หมายถึง การประกอบกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้ร่างกายหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเกิดการเคลื่อนไหว และมีผลให้ระบบต่างๆ ของร่างกายเกิดความสมบูรณ์ แข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (มนัส  ยอดคำ, 2548, หน้า 49) ในการออกกำลังกายต้องออกกำลังกายอย่างถูกต้อง ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และการฝึกกีฬาจึงจะเกิดประโยชน์ ซึ่งประโยชน์ของการออกกำลังกายสามารถแบ่งได้ดังนี้
                1. ด้านร่างกาย
                2. ด้านจิตใจ
                3. ด้านสติปัญญา
                4. ด้านสังคม







ภาพที่ 1 ประโยชน์ของการออกกำลังกาย
                1. ด้านร่างกาย การออกกำลังกายจะทำให้อวัยวะและระบบต่างๆ ของร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ดังนี้
                1.1 ระบบกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อจะมีการเจริญเติบโตขึ้น ทำให้ขนาดของเส้นใยกล้ามเนื้อขยายใหญ่ขึ้น (Hypertrophy) และเป็นการเพิ่มความสามารถในการออกแรงด้วย ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อจะทำงานได้นานขึ้น เนื่องจากมีการใช้ออกซิเจนน้อยกว่า
                1.2 ระบบโครงร่าง ในขณะออกกำลังกายกระดูกจะถูกดึง ถูกบีบจากแรงกล้ามเนื้อ ซึ่งจะกระตุ้นให้กระดูกมีการเจริญขึ้น ทั้งความกว้าง ความใหญ่ ความหนา และข้อต่อก็จะมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับการทำงาน
                     1.3 ระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจ การออกกำลังกายเป็นประจำทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1  ประโยชน์ของการออกกำลังกายที่มีต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจ

ระบบไหลเวียนโลหิต        ระบบหายใจ
1. กล้ามเนื้อหัวใจมีขนาดเพิ่มขึ้น    1. ความสามารถในการจับออกซิเจนของร่างกาย(Maximum Oxygen uptake) มีค่าเพิ่มขึ้น
2. อัตราการเต้นของชีพจรในขณะพักลดลง รวมทั้งอัตราการเต้นของชีพจรขณะออกกำลังกายต่ำกว่าระดับสูงสุดช้าลง            2. การหายใจมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. การเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดง และฮีโมโกรบิน       3. ความจุชีพ(Vital capacity) เพิ่มขึ้น
4. ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด            4. ทรวงอกขยายใหญ่ขึ้น กล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการหายใจแข็งแรงขึ้น ความยืดหยุ่นของปอดเพิ่มขึ้น
5. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหัวใจขณะพัก คือ อัตราการเต้นของหัวใจต่ำลง     5. ลดอันตรายของโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจและระบบไหลเวียนโลหิต
              
 2. ด้านจิตใจ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะผลทำให้เป็นคนที่มีบุคลิกที่มั่นคงสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีสามารถปรับตัวเมื่อได้รับความเครียดได้ดี มีความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ที่ในระดับดี
           3. ด้านสติปัญญา นอกจากการออกกำลังกายมีผลต่อด้านจิตใจแล้ว ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะมีความสามารถในการแก้ปัญหา มีความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ มีความสามารถในการเรียนรู้ มีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์ต่างๆได้ดี
            4. ด้านสังคม การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มความมีวุฒิภาวะทางสังคม มีความฉลาดทางสังคม เนื่องการออกำลังกายเป็นกิจกกรมที่ส่งเสริมให้คนมีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น จนนำไปสู่การพัฒนาทักษะทางสังคมที่ดี
องค์ประกอบพื้นฐานในการออกกำลังกาย
                1.การอบอุ่นร่างกาย (Warm-up)  ช่วงเวลาของการอบอุ่นร่างกายควรทำการออกกำลังกาย การอบอุ่นร่างกายจะช่วยเพิ่มอุณหภูมิของร่างกาย ความยืดหยุ่นของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ และความอ่อนตัว การอบอุ่นร่างกายช่วยป้องกันการบาดเจ็บและการปวดของกล้ามเนื้อ ในการอบอุ่นร่างกายมีข้อปฏิบัติดังนี้
                - ทำการอบอุ่นรางกายเป็นเวลา10 -15 นาที
                - ทำให้กล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นและข้อต่อสามารถทำงานได้เต็มช่วงของการเคลื่อนไหว เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ ละกิจกรรมอื่นๆที่ใช้ในการอบอุ่นร่างกาย
                - ทำการอบอุ่นทั้งร่างกายโดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย
                - การอบอุ่นต้องเริ่มการอย่างช้าให้ระบบไหลเวียนและระบบหายใจค่อยๆเพิ่มขึ้น
                2. ช่วงของการออกกำลังกายหรือการปฏิบัติกิจกรรม (Workout/Activity) หลังจากที่ทำการอบอุ่นร่างกายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะเริ่มการออกกำลังกายควรเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมโดยที่ร่างกายต้องเคลื่อนไหวได้อย่างมีอิสระและปลอดภัย ข้อปฏิบัติในช่วงนี้มีดังนี้
                - ปฏิบัติเป็นเวลา 30 นาทีถึง 60 นาที
                - ปฏิบัติกิจกรรมตามความต้องการที่จะพัฒนาส่วนประกอบต่างๆ เช่น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความอดทนของกล้ามเนื้อ  ความอดทนของระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจ และความอ่อนตัว
                - ปฏิบัติตามความต้องการของแต่ละบุคคล
                - เลือกงานและช่วงเวลาพักขณะการออกกำลังกาย
                - สำหรับผู้เริ่มออกกำลังกาย ให้เพิ่มระยะเวลาในการออกำลังกายแบบมีช่วงพัก และรักษาความหนักของงานให้คงที่
                3. การคลายอุ่น (Cool-Down) หลังจากการออกกำลังกายอย่างหนักการคลายอุ่นเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้เลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจ ในช่วงของการคลายอุ่นมีประสิทธิภาพในการป้องการการบาดเจ็บที่ดีกว่าในช่วงการอบอุ่นร่างกาย ข้อปฏิบัติในช่วงนี้ มีดังนี้
                - ปฏิบัติเป็นเวลา 510 นาทีหลังจากการออกกำลังกาย
                - ทำให้มีการพักผ่อนตามรูปแบบการออกกำลังกาย
                - กิจกรรมที่ทำประกอบด้วย การเดินช้า การวิ่งเหยาะๆ การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
                - ตรวจสอบการเต้นของชีพจรขณะร่างกายฟื้นตัว
เอกสารอ้างอิง
มนัส  ยอดคำ (2548). สุขภาพกับการออกกำลังกาย พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮาส์.
ชาญณรงค์ ฟูกโคกสูง (2554). การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ. บทความทางพลศึกษาและสุขภาพ.
http://program.npru.ac.th/pe/AT.html  [2555, สิงหาคม 19]

บทความ เรื่อง มาออกกำลังกาย
               การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่เริ่มต้นไม่ยากและเมื่อเริ่มลงมือปฏิบัติก็มีผลดีต่อร่างกายอย่างเห็นได้ชัดเป็นการลงทุนที่หาซื้อไม่ได้ แต่ต้องเริ่มต้นสะสมด้วยตนเอง ผลดีของการออกกำลังกาย ได้แก่
ผลดีต่อระบบการเคลื่อนไหว การออกกำลังกายจะทำให้ทั้งกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อต่อ ตลอดจนไขกระดูกแข็งแรงและทำงานได้ดี จึงส่งผลให้เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วและทรงพลัง                                                                                                                  
 ผลดีต่อหัวใจ การออกกำลังกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายได้มากขึ้น                              
ผลดีต่อเส้นโลหิต การออกกำลังกายทำให้เส้นโลหิตยืดหยุ่น ไม่เปราะง่าย มีไขมันน้อย ลดโอกาสการเป็นโรคความดันโลหิตสูง
ผลดีต่ออัตราการเต้นของชีพจร การออกกำลังกายจะส่งผลให้ปริมาณแร่ธาตุที่สำคัญในแง่ของสารอาหารเพิ่มขึ้น ช่วยลดปริมาณของกรดแลคติกได้ดี ทำให้เกิดอาการเหนื่อยช้าลง
การออกกำลังกาย
                การออกกำลังกายไม่ได้หมายถึงการต้องไปแข่งขันกีฬากับผู้อื่น แต่การออกกำลังกายเป็นการแข่งขันกับตัวเองหลายคนก่อนจะออกกำลังกายมักจะอ้างเหตุผลของการไม่ออกกำลังกาย เช่น ไม่มีเวลา ไม่มีสถานที่ ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ ปัญหาเกี่ยวกับอากาศ ทั้งหมดเป็นข้ออ้างที่จะไม่ออกกำลังกาย แต่ลืมไปว่าการออกกำลังกายอาจจะให้ผลดีมากกว่าสิ่งที่เขาเสียไปเป็นที่น่าดีใจว่าการออกกำลังให้สุขภาพดีไม่ต้องใช้เวลามากมาย เพียงแค่วันละครึ่งชั่วโมงก็พอ และก็ไม่ต้องใช้พื้นที่หรือเครื่องมืออะไร มีเพียงพื้นที่ในการเดินก็พอแล้ว การออกกำลังจะทำให้รูปร่างดูดี กล้ามเนื้อแข็งแรง ป้องกันโรคหัวใจ ป้องกันโรคกระดูกพรุน ป้องกันโรคอ้วน การออกกำลังกายทำให้ร่างกายสดชื่น มีพลังที่จะทำงานและต่อสู้กับชีวิต นอกจากนั้นยังสามารถลดความเครียดได้ด้วย
โรคที่มากับคนที่ไม่ออกกำลังกาย
กลุ่มโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจขาดเลือด
-โรคอ้วน
-โรคเบาหวานและไขมันในเลือดสูง
-โรคเครียด
-โรคภูมิแพ้
-โรคปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
-โรคมะเร็ง และโรคอื่นๆ ตามมาด้วย
ดังนั้น พวกเราทุกคนควรมาออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ป้องกันโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย

พลศึกษากับการพัฒนาคน (กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ)

         การออกกำลังกายและเล่นกีฬาไม่ได้ทำให้ร่างกายแข็งแรงแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ตามหลักการพลศึกษาการออกกำลังกายและเล่นกีฬายังสามารถพัฒนาบุคคลทั้งด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านอารมณ์ ด้านสังคม และด้านสติปัญญาอีกด้วย
          โดยจากพุทธสุภาษิตที่ว่า “อโรคยา  ปรมาลาภา” หรือ “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” เป็นประโยคที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วยและเป็นสิ่งสนับสนุนที่สำคัญและสอดคล้องกับประโยคที่ว่า “กีฬา กีฬาเป็นยาวิเศษ” เพราะหากร่างกายไม่สมบูรณ์แข็งแรง จะคิดจะทำการใดก็ดูเป็นอุปสรรคไปทั้งหมด ทำอะไรก็ไม่สะดวก เนื่องจากร่างกายไม่พร้อมที่จะทำงาน นอกจากนั้นการออกกำลังกายและเล่นกีฬายังเปรียบเสมือนยาอายุวัฒนะที่ทำให้ร่างกายของเราสมบูรณ์ แข็งแรง และแก่ช้าลงกว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
          โดยประโยชน์ของการออกกำลังกายและเล่นกีฬาได้ถูกนำมาแต่งเป็นบทประพันธ์ในเพลงกราวกีฬา โดย ครูเทพ(สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) หรือ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ดังนี้

เพลง  กราวกีฬา
พวกเรานักกีฬาใจกล้าหาญ เชี่ยวชาญชิงชัยไม่ย่นย่อ
คราวชนะรุกใหญ่ไม่รีรอ คราวแพ้ก็ไม่ถ้อกัดฟันทน
(สร้อย)ฮึม ฮึม ฮึม ฮึม กีฬาๆ เป็นยาวิเศษ ฮ้าไฮ
กีฬาๆ เป็นยาวิเศษ แก้กองกิเลสทำคนให้เป็นคน
ผลของการฝึกตน เล่นกีฬาสากล  ตาลาล้า
ร่างกายกำยำล้ำเลิศ กล้ามเนื้อก่อเกิดทุกแห่งหน
แข็งแรงทรหดอดทน ว่องไวไม่ย่นระย่อใคร
(สร้อย)

ใจคอมั่นคงทรงศักดิ์ รู้จักทีหนีทีไล่
รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย ไว้ใจได้ทั่วทั้งรักชัง
(สร้อย)
ไม่ชอบเอาเปรียบเฉียบแข่งขัน สู้กันซึ่งหน้าอย่าลับหลัง
มัวส่วนตัวเบื่อเหลือกำลัง เกลียดชังการเล่นเห็นแก่ตัว(สร้อย)
เล่นรวมกำลังกันทั้งพวก เอาชัยสะดวกมิใช่ชั่ว
ไม่ว่างานหรือเล่นเป็นไม่กลัว ร่วมมือกันทั่วก็ไชโย(สร้อย)
         จากแนวคิดเกี่ยวกับการพลศึกษาและการเล่นกีฬาของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีที่ได้ถ่ายทอดลงสู่บทเพลงกราวกีฬานั้น เนื้อหาของเพลงได้กล่าวถึงคุณค่าของการเล่นกีฬาไว้อย่างครบถ้วนกล่าวคือ   การเล่นกีฬาช่วยฝึกให้ผู้เล่นมีความมานะอดทนพยายาม ทั้งในยามแพ้และชนะ การกีฬาสร้างให้ผู้เล่นมีสมรรถภาพทางกายที่สมบูรณ์แข็งแรง มีจิตใจที่เข้มแข็งกล้าหาญ มีความซื่อสัตย์ รู้จักการใช้ไหวพริบสติปัญญา มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อผู้อื่น มีความยุติธรรมไม่เอาเปรียบผู้อื่น(ไม่เห็นแก่ตัว) และมีความรักสามัคคีกันในหมู่คณะ จากที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นคุณประโยชน์ของการเล่นกีฬาที่สามารถสรุปได้ว่า กีฬา กีฬาเป็นยาวิเศษแก้กองกิเลส ทำคนให้เป็นคน

          จากที่กล่าวมาขั้นต้นจะเห็นได้ว่าประโยชน์ของการเล่นกีฬานั้นมีมากมาย แต่จุดมุ่งหมายปลายทางของการเล่นกีฬาคือการสร้างคน การทำให้คนเป็นคนขึ้นมาได้ โดยความหมายของคำว่าคนในที่นี้จะต้องเป็นคนที่มีคุณภาพมีจิตใจเป็นนักกีฬา มีน้ำใจนักกีฬา(Sporting Spirit) ซึ่งคำว่าน้ำใจนักกีฬานั้นเกิดขึ้นได้จากการเล่นอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่เอาเปรียบคู่แข่งขัน ไม่แบ่งชั้นวรรณะ เชื้อชาติ ศาสนา ในการเล่นทุกคนมีความเท่าเทียมกันในการเล่น หากเกิดการเล่นที่พลาดพลั้งก็ให้อภัยซึ่งกันและกัน การเล่นกีฬาจึงถือได้ว่าเป็นยาวิเศษขนานหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้ที่เล่นกีฬานั่นก็คือช่วยเปลี่ยนแปลงนิสัยช่วยขจัดสิ่งที่ไม่ดีไม่งามให้ออกจากตัวเองและทำให้บุคคลผู้นั้นมีคุณลักษณะที่ดีที่สังคมพึ่งปราถนา
         การมีน้ำใจนักกีฬานั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของทุกๆ สังคม ทุกชาติทุกภาษาล้วนต้องการให้ประชาชนพลเมืองของตนเองทุกคนมีน้ำใจนักกีฬาในจิตใจทั้งสิ้น โดยมีความเชื่อว่าถ้าประชาชนพลเมืองทุกคนมีน้ำใจนักกีฬาแล้วนั้นจะช่วยทำให้สังคมเกิดความร่วมมือกัน มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันและกัน มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีความรักความสามัคคีกัน ช่วยกันรักษาและปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับของสังคมที่วางไว้ ท้ายที่สุดก็เป็นวิถีทางนำมาซึ่งประสิทธิภาพและคุณภาพของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันของสังคมได้อย่างยั่งยืน
         จากคำกล่าวที่ว่า “การศึกษาสร้างคน คนสร้างชาติ” มีนัยคือการที่ประเทศชาติจะพัฒนาได้นั้นจำเป็นต้องมีทรัพยากรบุคคลภายในประเทศที่มีความรู้ความสารถ ที่จะช่วยกันพัฒนาเพื่อแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้อย่างทัดเทียม ฉะนั้นการสร้างคนจะต้องเริ่มตั้งแต่ในเด็กและเยาวชน ดังในคำกล่าวที่ว่า“เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า” เพราะที่สุดแล้วเราก็ต่างหวังที่จะให้คนรุ่นต่อไปช่วยพัฒนาประเทศ ซึ่งก็คือเด็กและเยาวชนของเรานั่นเอง
         ในปัจจุบันเด็กและเยาวชนได้ศึกษาและเข้าเรียนในระบบโรงเรียน โดยมีเป้าหมายของการศึกษาคือ จะต้องพัฒนาให้เขาเหล่านั้นมีความพร้อมทั้ง ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านอารมณ์ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา เมื่อมีเป้าหมายดังกล่าวแล้ว การศึกษาในแต่ละแขนงวิชาแม้จะมีเนื้อหาที่แตกต่างกันแต่ก็มีเป้าหมายเดียวกัน โดยในส่วนของวิชาพลศึกษามีเป้าหมายที่จะพัฒนาผู้เรียนให้มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีทักษะในการเคลื่อนไหวและการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ได้ถูกต้อง ช่วยปลูกฝังให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬาคือ การรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย รู้จักช่วยเหลือเกื้อกูล และมีจิตใจที่แจ่มใส ร่าเริง ฝึกให้ผู้เรียนได้รู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมไปถึงการคิดวางแผนหรือการพัฒนาทักษะต่างๆ ของตนเอง และได้ฝึกประสบการณ์การเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคม ทั้งนี้กิจกรรมการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาในทางพลศึกษานั้นได้จำลองการอยู่และการทำงานร่วมกันในสังคมมาให้เด็กและเยาวชนได้รู้จักและเรียนรู้ถึง บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ ของตนเองในสังคม โดยในขณะที่เล่นกีฬา เขาจะต้องเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ที่เขาต้องรับผิดชอบ ซึ่งถ้าเขาละเลยบทบาทหน้าที่ของตนเองแล้วจะเกิดผลเสียต่อทีมและการแข่งขันอย่างไร ซึ่งการที่เขาจะปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ขาดตกบกพร่องนั้น เขาจำเป็นที่จะต้องมีทักษะที่ดี มีสมรรถภาพทางกายที่แข็งแรง และมีไหวพริบสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาได้อย่างดี จึงแสดงให้เห็นว่าในขณะที่เด็กได้เล่นกีฬาอยู่นั้นเขาจะต้องบูรณาการความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและความสามารถทั้งหมดของเขาแสดงออกมาอย่างเต็มที่ และช่วยให้เขาสามารถมองเห็นว่าการใช้ชีวิตในสังคมก็เปรียบเสมือนการแข่งขันกีฬาที่จะต้องมีการแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นในการอยู่ร่วมกันในสังคมของชีวิตจริงเขาก็จะอยู่ร่วมกันอย่างผู้มีน้ำใจนักกีฬา
         ด้วยเหตุนี้การพลศึกษาจึงเป็นส่วนประกอบหนึ่งของการสร้างสังคมโดยเริ่มจากการปลูกฝังในเด็กและเยาวชนในมีใจรักในการออกกำลังกายและเล่นกีฬา ปลูกฝังให้เด็กรู้จักบทบาทหน้าที่ในสังคม และเคารพในกฎกติการของสังคมดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบันประเทศของเราประสบปัญหาความวุ่นวาย ภายในประเทศ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะผู้คนขาดความเคารพในกฎกติกาของบ้านเมือง และเมื่อขาดความเคารพกฎในกติกาของบ้านเมืองแล้ว ก็จะสร้างปัญหาให้กับสังคมตามมา
         การที่ประเทศชาติจะคงอยู่และเจริญก้าวหน้าต่อไปได้นั้นจำเป็นที่จะต้องอาศัยประชาชนและคนในชาติที่มีคุณภาพ ให้ช่วยกันพัฒนาชาติและรักษาเอาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามของชาติไทยไว้เพื่อให้คงอยู่และสืบทอดให้ลูกหลานรุ่นต่อไป ทั้งนี้เชื่อกันว่าพลเมืองในอุดมคติของประเทศไทยนั้นจะต้องเป็นคนดีมีความรู้ หรือเป็นคนเก่งมีความสามารถมากมายหลายด้านนั้นก็ตามแต่ละยุคสมัยที่รัฐบาลหลายสมัยพยายามจะสร้างหรือวางเป็นรากฐานของการสร้างและพัฒนา พลเมืองไทย จนกระทั่งในปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายเน้นความมีคุณธรรมจึงใช้นโยบายที่ว่า “คุณธรรมนำความรู้”หมายความว่าในอนาคตพลเมืองไทยจะต้องเป็นคนดีมีคุณธรรมมีความซื่อสัตย์สุจริต มากกว่าจะเน้นเฉพาะการมีความรู้ความสามารถ เพราะหากพลเมืองของเราไม่มีคุณธรรมและไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตแล้วก็อาจนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่มากมายนั้นไปก่อความเดือดร้อนวุ่นวายในสังคมได้
          ฉะนั้นหากจะมองในแง่มุมของวิชาพลศึกษาจึงสามารถมองได้ว่าแก่นแท้ของวิชาพลศึกษานั้นมีหลักการและวัตถุประสงค์คือมุ่งหวังที่จะให้พลเมืองไทยมี สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและมีจิตใจที่ผ่องใส ดังคำกล่าวที่ว่า “จิตใจที่ผ่องใสอยู่ในร่างกายที่สมบูรณ์”    หรือ “The Sound Mind Is In The Sound Body” นอกจากนั้นวัตถุประสงค์ของกิจกรรมพลศึกษายังปลูกฝังให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม มีคุณธรรมมีจริยธรรมมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่รู้จักบทบาทของตนเองมีความซื่อสัตย์สุจริตซึ่งคุณธรรมเหล่านี้รวมกันแล้วสามารถเรียกเป็นชื่อใหม่ได้ว่า “ความมีน้ำใจนักกีฬา” ซึ่งความมีน้ำใจนักกีฬานี่เองที่ผู้เล่นจะได้จากการเล่นกีฬา และยังสามารถนำไปใช้ได้ในการทำงานอีกด้วย ดังคำกล่าวของ ท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีที่ว่า “โลกบูชาน้ำใจนักกีฬา แต่โลกดูถูกน้ำใจที่ไม่ใช่นักกีฬา ใครเล่นอย่างนักกีฬา เขาทำงานอย่างนักกีฬาด้วย ใครไม่เล่นอย่างนักกีฬา อย่าหวังว่าเขาจะทำงานด้วยน้ำใจนักกีฬา น้ำใจนักกีฬาอยู่ที่ใจ มิใช่ลำแข้ง ฉะนั้นน้ำใจนักกีฬาไม่จำเป็นต้องมีแข้งกีฬา และแข้งกีฬาก็ไม่จำเป็นต้องมีน้ำใจนักกีฬา เราคำนับนักกีฬาอย่างสง่าผ่าเผย เราไม่เงยดูหน้าคนป่าเถื่อน อันน้ำใจนักกีฬาบูชาได้ ไม่ว่าใครไว้ใจได้ทุกเมื่อ ขาดน้ำใจนักกีฬานี้น่าเบื่อ คนไม่เชื่อและไม่ไว้ใจเลย” และจากที่กล่าวมานั้นกิจกรรมพลศึกษายังช่วยสร้างให้ผู้เข้าร่วมมีทักษะการเคลื่อนไหว มีบุคลิกภาพ ที่สง่างาม มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีการวางแผนการทำงานและเกิดทัศนคติที่ดีต่อการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
         จึงพอที่จะสรุปได้ว่า จากการเข้าร่วมกิจกรรมการออกกำลังกายและเล่นกีฬา ซึ่งรวมอยู่ในกิจกรรม พลศึกษาเป็นประจำต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอนั้นจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมมีสมรรถภาพทางกายที่สมบูรณ์แข็งแรง มีทักษะการเคลื่อนไหวและบุคลิกภาพที่สง่างาม  มีความรู้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา มีคุณธรรมในใจ รู้จักการแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม และมีทัศนคติที่ดีต่อการออกกำลังกาย ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นวัตถุประสงค์การการพลศึกษา และเป็นจุดหมายของการพัฒนาพลเมืองไทยให้เป็นกำลังของประเทศต่อไปในอนาคต เพราะ “กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษแก้กองกิเลส ทำคนให้เป็นคน” ที่ไม่ได้ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง สมบูรณ์ แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังช่วยพัฒนาการการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตอีกด้วย
หนังสืออ้างอิง
[1] ธรรมศักดิ์มนตรี ,เจ้าพระยา. บทประพันธ์บางเรื่อง
ของครูเทพ(เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี).  กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2548.
[2] วรศักดิ์ เพียรชอบ. น้ำใจนักกีฬา. สารานุกรม

ศึกษาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ ฉบับที่ 27 ประจำเดือนกันยายน 2545.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น